000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > เครื่องเคียง (Accessories) -กับดัก- หรือ -ตัวช่วย-
วันที่ : 28/03/2016
6,760 views

เครื่องเคียง (Accessories) “กับดัก” หรือ “ตัวช่วย”

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ก่อนอื่นมาดูว่าเครื่องเคียงอะไรมีผลต่อเสียงจากเครื่องเสียงมากที่สุดซึ่งได้แก่ (เรียงลำดับตามความสำคัญสูงสุดไปหาน้อยสุด)

  1. อคูสติกของห้อง
  2. ทิศทางสายไฟ AC (ของเครื่อง,ของห้องฟัง,ของทั้งบ้าน)
  3. การติดตั้ง (Set up ชุด)
  4. เสียงรบกวนในห้อง (และจากเครื่องเอง)
  5. คลื่นความถี่สูงทั้งในรูป RF (Radio Frequency) และ EMF ต่อเครื่องต่อสมอง
  6. การสั่นสะเทือน

เครื่องเคียง (Accessories) คืออะไร

  • เมื่อ 40 ปีที่แล้วย้อนไปแทบไม่มีใครพูดถึงเครื่องเคียงเลย
  • 30 กว่าปีมานี้ที่เครื่องเคียงเข้ามามีบทบาท หลังจากมีการลองเปลี่ยนสายต่างๆที่แถมมากับเครื่อง

ที่มาของเครื่องเคียง

  1. เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
  2. เพื่อปรับปรุงของเดิมที่ให้มา
  3. การเป็นคนช่างสังเกต ช่างความคิด

ชนิดของเครื่องเคียง จำแนกตามการใช้งานหรือจุดที่มันเข้าไปแก้ไข ปรับปรุง

  1. ผลด้านไฟฟ้า ได้แก่
  • อุปกรณ์รักษาแรงดันไฟฟ้า หรือ ลดความเพี้ยนในไฟ AC บ้าน
  • อุปกรณ์กรองไฟ AC ให้สะอาดหมดจด (อุปกรณ์ห่อหุ้มสาย)
  • อุปกรณ์สร้างไฟ AC ขึ้นมาใหม่จากไฟ AC บ้านปกติ
  • อุปกรณ์สร้างประจุไฟฟ้าภายในห้องฟัง
  • เส้นฟิวส์,เต้าเสียบไฟ AC (ที่กำแพง,ที่หลังเครื่อง)
  • Ground Plain (Electrical Noise , Eddy Current)
  1. ผลด้านคลื่นวิทยุความถี่สูง (RF) , คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF) , ไฟฟ้าสถิตย์
  • ตัวดูดซับเครื่อง RF , EMF (VPI)
  • ปลีกตัวผู้ RCA ช๊อตคลื่น
  1. การสั่นสะเทือน (Vibration) ทั้งจากตัวเครื่องเสียงเองและจากภายนอก
  • ตัวดูดซับการสั่นสะเทือน (แผ่นปะ , ฯลฯ )
  • ขาตั้งลำโพง , ชั้นวางเครื่อง
  1. ลดเสียงก้อง , สะท้อนภายในห้องฟัง (ถือเป็นเสียงรบกวนอย่างหนึ่ง)
  • ไม่จริงที่จะเอาความก้องของห้องมาช่วยเติมให้เสียงเพลง
  • อุปกรณ์ดูดซับเสียง
  • อุปกรณ์สลายคลื่นค้าง ( Diffuser , Stein (Piezo))
  1. สายต่างๆ
  • สายไฟ AC
  • สายสัญญาณเสียง ( Balance , Unbalance ) , สายหูฟัง
  • สายดิจิตอล ( Coaxial , Optical , HDMI )
  • สายลำโพง
  • สายภาพ ( มีผลต่อเสียงด้วย )
  • สายเชื่อมขั้วลำโพง Bi-Wire
  1. หัวแจ๊ค , หัวเสียบตัวผู้ ตัวเมีย
  • หัว RCA , Balance ( XLR )
  • ขั้วลำโพง
  • หัวเสียบสายลำโพง
  • หัวเสียบช๊อต In put
  1. ผลึกแร่ธาตุทั้งหลาย
  • อะมิทิส
  • สะเก็ดอุกกาบาต
  • กล่องรวมตัวอย่าง Crytal Juddy
  • โมนาไซด์ ? (ที่ใกล้สายไฟ)
  • ปลอกแท่งเซรามิกกรองน้ำ

ทำไมผู้ผลิตเครื่องเสียงจึงไม่จัดสรรเครื่องเคียงมาให้เลย

        พูดง่ายๆเพื่อลดต้นทุน หรือ ไม่ก็พวกเขาไม่เชื่อว่ามันมีผลจริง

กับดักของเครื่องเคียง

          แน่นอนการเพิ่ม “เครื่องเคียง” เข้าไปทั้งเพิ่มเติม เสริม , ทั้งเปลี่ยนของเดิมที่มากับผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ย่อมสร้าง “ความแตกต่าง”

          แต่น่ากลัวมากที่ส่วนใหญ่ของอุปกรณ์เครื่องเคียงในตลาดเป็นได้แค่ผงชูรส , กลบเกลื่อน , เติมสีสัน ไม่ได้ทำให้เสียงเที่ยงตรง ถูกต้องมากขึ้น การจะเลือกซื้อ , เลือกใช้เครื่องเคียงจึงต้องคำนึงถึง

  1. อย่าได้คิดเอาสีสันจากเครื่องเคียงไปต่อเติม , แก้ไขเสียงจากชุดเดิมที่บกพร่องอยู่เพราะจะเหมือนเอาความพิการไปแก้ความพิการ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เสถียร ผีเข้าผีออก เดี๋ยวเหมือนใช้ได้ เดี๋ยวเหมือนทะแม่งๆไม่ใช่
  2. สายที่ให้เสียงอิ่มอวบหนักขึ้น มักใช้วิธีกดการสวิงของเสียง ให้ทุกๆความถี่เสียง ทุกๆระดับเสียงดังติดเพดานอันหนึ่ง ( อย่าลืมว่าสายไม่มีอัตราขยาย การจะได้อะไรมา จึงมักเกิดจากการไปกดในส่วนอื่นๆให้ส่วนที่ต้องการเหมือนโป่งขึ้นมา
  3. เครื่องเคียงนั้นเหมือน “บางอย่าง” ดีขึ้นแต่เอาแน่นอนไม่ได้ และบางแง่มุมอื่นกลับแย่ลง ต้องฟังตรวจสอบทุกๆแง่มุม อย่ามองมุมเดียว แง่เดียวเด็ดขาด
  4. ความไม่เสถียรของผลที่ได้เหมือนกับว่า
  • ดีขึ้นประเดี๋ยวเดียวแล้วสักพักกลับแย่ลงเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิม
  • ได้ผลดีขึ้นอย่างจำกัด เช่น
  • เฉพาะบางช่วงความถี่เสียง
  • ต้องไม่ดังมากๆ ( จะมั่วเลอะไปเลย )
  • ต้องไม่ค่อยมาก ( Low Level Detailจมหาย )
  1. ในการทดลองฟังต้องอิงกับความถูกต้องเสมอ อย่าตื่นเต้นกับความดีที่โด่งขึ้นมาของมัน มิเช่นนั้นจะพายเรือในอ่างอย่างไม่รู้จบสิ้น
  2. เครื่องเคียงนั้นต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้หรือรองรับ อย่าอ้างว่าเป็นเทคนิคพิเศษ เป็นความลับทางการค้า จริงๆแล้วการทำเครื่องเคียงนั้นละเอียดอ่อนอย่างยิ่งยวดต้องทำตาม “ ขั้นตอน (Step) ” , “ ช้าเร็ว ” , “ แช่นานหรือทันที ” (Timing) พูดง่ายๆว่ามีข้อปลีกย่อยอีกเยอะกว่าที่ตาเห็นว่าดูง่ายๆไม่มีอะไร เรียก Algorithm หรือ “ หลักสูตร ” ซึ่งเราไม่ใช่ต้องการละเอียดถึงสูตรแต่ต้องการรู้ “ หลักการ ” ว่ามันมีความเป็นไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ให้หลับหูหลับตาควักกระเป๋าซื้อ
  3. การฟังเปรียบเทียบของเดิม , สภาพเดิมกับของใหม่อย่าเอาแต่ฟังจาก เดิม ไป ใหม่ อย่างเดียว บ่อยๆที่ต้องฟังย้อนกลับมาด้วยจาก ใหม่ กลับไป เดิม

     หรือ ต้องฟังทดสอบจากหลายๆแผ่น หลายๆเพลง หลากสไตล์ ใช้เวลาสักพักใหญ่จึงจะเห็น ตัวตน แท้จริงของเครื่องเคียงนั้นๆ ห้าม “ รักแรกพบ ” เด็ดขาด

เพื่อการตัดสินใจซื้อที่ไม่ผิดพลาด

  1. เราต้องฟังเป็น อิงกับเสียงที่ถูกต้อง , เป็นธรรมชาติไม่เอาใจหูตัวเอง ( อย่าซื้อเพราะกำลัง “หิว” เสียงบางอย่างอยู่ )
  2. ต้องขอไปลองกับชุดของเราเองโดยมีข้อตกลงว่า ถ้าใช้ไม่ได้ผลหรือเข้ากับชุดเราไม่ได้ ร้านต้องยินดีรับคืน (อาจหักค่าใช้บ้างนิดหน่อย)

ร้านจึงควรมีชุดสำรอง ( ที่เบินอินแล้ว ) ไว้ให้ลูกค้านำไปลองที่บ้าน ( โดยจ่ายเต็มไว้ก่อน ) ถ้าซื้อพลาดมันจะกลายเป็น “ ขยะ” ราคาแพง

  1. เครื่องเคียงที่ดีต้องปรับปรุงให้เสียงทั้งหมดดีขึ้นอย่างยกแผงคือ ทั้งชัดขึ้น , สงัดขึ้น , เป็นตัวตนขึ้น , นิ่งขึ้น , สะอาดสงบขึ้น , โฟกัสขึ้น , กระเด็นหลุดลอยเป็นชิ้นเป็นอันออกมามากขึ้น ,  เสียงตื่นตัว กระชับกระเฉงขึ้นแต่ต้องผ่อนคลายไม่ใช่ก้าวร้าวเร่งเร้าเกินงาม เสียงมั่วน้อยลงโดยเฉพาะช่วงดนตรีขึ้นหลายๆชิ้นพร้อมกัน เสียงไม่แปร๋น จ้า บาดหู สากหู มิติเสียงมีทรวดทรงขึ้น ( 3D ) ไม่วอกแวก , นิ่ง มีลำดับตื้นลึกเป็นชั้นๆ , เวทีกว้างโอบ , มีสูง-ต่ำ-ลึกเข้าไป-ลอยออกมา ( Homophonic ) ไม่ใช่แค่ 3 POINT STEREO (ซ้าย , กลาง , ขวา ) อย่างเดียว (โดยระหว่างซ้ายมากลาง , ขวามากลาง เบลอหมด ) เสียงสวิงกว้างขึ้น ค่อยก็ค่อยได้แทบกระซิบ ช่วงโหมดังก็พุ่งขึ้นได้ไม่อั้นไม่ตื้อ เสียงต้องกังวานพลิ้วโปร่ง ไม่ใช่กังวานแบบทึบๆขุ่นๆ

ทำไมเครื่องเคียงจึงมีราคาสูงมาก

          ดูเผินๆการคิดจะซื้อเครื่องเคียงมาปรับปรุงชุดเดิมที่ใช้อยู่เหมือนกับว่าลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าทั้งชุดเครื่องเสียง ยิ่งชุดแพงๆเป็นแสนๆบาทหรือหลายล้านบาท เครื่องเคียงมีราคาแค่เศษเสี้ยวเท่านั้นเอง นักเล่นจึงมักยอมลงทุนกับเครื่องเคียง ทำให้ตลาดเครื่องเคียงขยายตัวมากเป็นสิบๆเท่าเทียบกับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว (เครื่องเคียงมีเป็นร้อยรายการให้ลองดู) แต่ต้องไม่ลืมว่าถ้าเครื่องเคียงนั้นไม่ได้ผลแถมให้ของเดิมแย่ลงอีก มันจะกลายเป็นขยะราคาแพงทันที เมื่อเอาวัสดุที่นำมาทำ , ขนาดมาคำนวณกับราคาของมัน มักจะพบว่าราคาของมันเกินกว่าวัสดุ , ตัวตนของมันอย่างมากๆ (เหมือนโทรศัพท์มือถือแหละโดยเฉพาะพวกสมาร์ทโฟน เครื่องหนึ่งแพงพอๆกับอินทริเกรทแอมป์ดีๆ หนึ่งเครื่อง)

สาเหตุที่เครื่องเคียงต้องมีราคาสูง (กรณีคิดเอง , ต้นแบบไม่ได้ไปลอกเลียนใครมา)

  1. ค่าความคิดที่มักลึกล้ำพิสดาร นอกกรอบ ไม่เหมือนใคร
  2. คนคิดต้องมีความรู้ แทบทุกแขนงวิชาทั้งกลศาสตร์ , วัสดุศาสตร์ , ไฟฟ้า , ไฟฟ้าอิเล็กโทรนิกส์ , ไฟฟ้าสื่อสาร , ฟิสิกส์ขั้นสูง , การผลิต
  3. ต้องใช้เวลามาก , ความอดทนสูงมากๆ , ทำทิ้งไปเยอะมากกว่าจะลงตัวได้ต้นแบบ
  4. คนคิดต้องฟังเก่งมาก ระดับเทพและอิงกับเสียงธรรมชาติถูกต้องซึ่งคนประเภทนี้ต้องบอกตรงๆ หายากมากๆ ในโลกนี้ (จากประสบการณ์ 40 ปีที่อยู่ในวงการหรือเล่นมา 45 ปีแล้ว)
  5. ต้นทุนวัสดุและการผลิตที่มักซับซ้อน , ละเอียดอ่อน , พิถีพิถันมากๆ อย่างไรก็ตามดังที่บอกไปแล้ว 85 % ของ เครื่องเคียงในตลาดเป็นได้แค่การสร้างความแตกต่าง , เปลี่ยนแปลงมากกว่าสร้างความถูกต้องเป็นธรรมชาติมากขึ้น ก็คาดหวังได้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องเคียงนั้นไม่ได้ดีจริง คนผลิตไม่ได้มีความรู้หรือหูที่ดีจริงหรือถึงขั้นลอกเลียนคนอื่น เห็นเขาทำขายกันก็ทำออกมาบ้าง ไม่ได้มีความรู้หรือใส่อะไรที่ลึกซึ้งเข้าไปเลย

จำเป็นต้องควักกระเป๋าซื้อเครื่องเคียงแพงๆไหม

          สำหรับท่านที่มีเงินทองก็ลองซื้อมาใช้ สนุกดีออก แต่สำหรับท่านที่หูสูงแต่งบเตี้ยก็สามารถ “สนุก”ได้โดยหาดัดแปลงเอาจากสิ่งรอบๆตัว รอบๆบ้านไม่ว่า (ตัวอย่าง)

  1. ตั้งหนังสือ , หนังสือพิมพ์ มาทับสาย , ยกสาย , แยกสาย
  2. ม้วนกระดาษทิชชูเอาแกนออกก่อนแล้วเอาม้วนมาติดที่ผนังห้องช่วยเก็บเสียง
  3. ไปดูพรมขนยาวๆบางรุ่นที่ HOME PRO เก็บเสียงได้ราบรื่น (พอๆกันตลอดช่วงความถี่)ได้ไม่เลว
  4. เอาเส้นเอ็นมาผูกสายห้อยจากเพดาน (ปูนไม่เอา เพดานที-บาร์ที่สั่นได้)
  5. ซื้อเหล็กฉาก (ที่ไว้ทำหิ้งติดผนัง) มายึดผนังปูนของห้องแล้วเอาเครื่องวางเลยไม่ต้องมีแผ่นไม้รอง
  6. เอาท่อแป๊บแบบขันเกลียวยืด-หดได้มาค้ำด้านบน (เพดาน) , ด้านล่าง (พื้น) ของตู้ลำโพงวางหิ้งแทนขาตั้งลำโพงแพงๆ
  7. เอาหม้อแบตรถมาวางข้างลำโพง
  8. เอาแท่งไส้กรองน้ำที่เป็นเซรามิกกลวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้วมาสอดห่อสายสัญญาณเสียง ซ้าย 1 ท่อ  ขวา 1 ท่อ ปรากฏว่ามิติเสียงโฟกัสขึ้นเยอะ
  9. ตู้เซฟเอามาทำตู้ลำโพง , ตู้ซับ
  10. กรงสุนัขมาทำกรงกันคลื่นวิทยุรบกวน

ข้อควรจำในการฟังเปรียบเทียบ

          ก่อนเล่นเครื่องเคียงต้องจัดชุดเครื่องเสียง (และภาพ) ให้ถูกต้องที่สุดก่อน เช่นจัดแยกสาย , ฟังทิศทางสาย , ทิศทางขาปลั๊กเสียบสายไฟ AC ไม่นำเครื่องวางทับซ้อนกัน (ยิ่งห่างกันมากแค่ไหนยิ่งดี โดยเฉพาะเครื่องเล่น CD ที่ใช้ Up Sampling สูงๆ , Bandwidth กว้างๆ , พวกดิจิตอลแอมป์ , แอมป์ Class D  เอาจอ LCD , มือถือ , IPAD ( Tablet) , นาฬิกาไฟฟ้า , PC , โน้ตบุ๊ก , (รีโมทได้ด้วยยิ่งดี) ออกไปนอกห้องให้หมด

          เอียงลำโพง ( Toe In )จูนให้ได้ทั้ง ทรวดทรงนักร้อง , ชิ้นดนตรี และ น้ำเสียงดีที่สุดก่อน (เอาหน้ากากออก )

          เลือก In put เพราะพบเสมอว่า In put แต่ละชุดให้เสียง , มิติต่างกัน เลือกชุดลำโพง A หรือ B ที่ได้เสียงเป็นตัวตนกว่า

          ลองสลับบวก , ลบ สายลำโพงด้านแอมป์ทั้งซ้ายกับขวา ให้ได้เสียงหลุดลอยออกมามากกว่า ลำโพงที่เป็น ไบ-ไวร์ก็ต้องเล่นไบ-ไวร์ แยกใช้สายลำโพง 2 ชุด เข้าแหลม 1 , กลาง/ทุ้ม 1 โดยสายไม่แตะกัน ห้ามใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จ (สาย 2 ชุดอยู่ในปลอกเดียวกัน หรือ แตะติดกันตลอดสาย)

          การฟังเทียบเวลากดไปเพลงเดิมเช่น เพลง 3 ต้องโดดไป 2 ก่อนแล้วจึงโดดมา 3 แล้วกด PAUSE หยุดชั่วคราว แล้วจึงกด PLAY เล่น

          การเล่นแผ่น CD ใส่แผ่นแล้วฟังจะสู้  ใส่แผ่นคาไว้ ปิดเครื่อง เปิดใหม่ กรณีหลัง (คาแผ่นก่อน) จะให้เสียงดีกว่า ยิ่งเป็นเครื่องเล่นระดับกลาง , ถูกยิ่งเห็นผลต่าง

          หมายเหตุ 1     บางครั้งพอเพิ่มเครื่องเคียงบางอย่างเข้าไปกลับต้องเอาเครื่องเคียงบางอย่างที่เคยลองว่าใช้แล้วดีขึ้นจริง ต้องเอาออก

          หมายเหตุ 2     ระวังการจัดฉาก จัดเพลง จัดแผ่น ของผู้ขายเครื่องเคียง (ถึงเตือนว่า ต้องเอาไปลองกับชุดของเราเอง)

          หมายเหตุ 3     ในเรื่องของการใช้อัญมณีหรือแร่ธาตุเช่น ผลึกคริสตัล , แร่ธาตุหินต่างๆในการปรับแต่งเครื่องเสียง อยากตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ไหมนอกจากตัวแร่ธาตุเหล่านี้จะมีผลต่อเครื่องเสียงแล้วมันยังมีผลต่อสมองของมนุษย์ด้วย

          ผมเคยซื้อหนังสือฝรั่งที่พูดถึงการใช้แร่ธาตุต่างๆมาเยียวยาสุขภาพ , ร่างกายของเรา ซึ่งเทคนิคความรู้เหล่านี้มีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้วในหลายประเทศ ปัจจุบันก็ยังมีการใช้อยู่ในแวดวงของแพทย์ทางเลือก ซึ่งน่าจะได้ผลไม่มากก็น้อยจึงยังคงมีการใช้กันเสมอมาถึงปัจจุบัน

          ผมเอาหนังสือนั้นซึ่งเขาใส่กล่องมาขนาดคืบกว่าคูณคืบกว่า ที่กล่องทำเป็นหลุมประมาณ 10 – 12 หลุม แต่ละหลุมใส่ตัวอย่างแร่ธาตุผลึกต่างๆขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย ผมเคยนำแต่ละก้อนผลึกนี้ไปวางบนเครื่องเล่น CD  T+A 1265R ซึ่งก็ให้ผลต่อมิติเสียง , สุ้มเสียงแตกต่างกันไป บ้างทำให้เสียงโฟกัสขึ้นแต่ความเป็นธรรมชาติลดลง บ้างฟังอ่อนโยนผ่อนคลายแต่ขาดความตื่นตัว หลายๆก้อนไม่ได้ผลอไร บางก้อนไม่ใช้ดีกว่า คือสรุป “ไม่ผ่าน” สักก้อน ผมก็เอามาใส่หลุมเก็บเหมือนเดิม

          วันหนึ่งผมเอากล่องนี้ไปวางเกือบกลางห้องฟัง ห่างลำโพงซ้าย , ขวาประมาณ 3 เมตร ห่างจากตัวอินเตอร์เกรทแอมป์ Mark Levinson NO.383 กับเครื่องเล่น CD T+A 1265R ประมาณ 1 เมตรและ 60 ซม. ตามลำดับ ปรากฏว่าทำให้มิติเสียงดีขึ้นไม่น้อยเลย เวทีเสียงกระจายเปิดออกขึ้น สูง-ต่ำ-ตื้น-ลึกดีขึ้น ตรงกลางวงชัดขึ้นมาก เสียงเปิดโปร่งทะลุ โฟกัสขึ้นเยอะ น้ำหนักเสียงดีขึ้น สรุปดีขึ้นถึง 30 – 40 % แบบว่าเอากล่องออกไม่ได้เลย (ต้องลองขยับตำแหน่งกล่องจูนด้วย) ผมไม่กล้าไปแตะต้องเจ้าตัวกล่องหนังสือนี้เลย

การทดสอบนี้บอกอะไรแก่เรา

          ถ้ายังจำกันได้ว่า ผมเคยแนะนำเรื่องเอาแผ่นตะกั่วบาง 0.5 มม (จากญี่ปุ่น) มาลองปะเครื่องเสียงดู ซึ่งก็ได้ผลบ้าง แย่ลงบ้าง วันหนึ่งเพื่อนนักเล่นระดับหูเทพ 2 คนนำแผ่นตะกั่วนี้ (หลายๆแผ่น) มาปะที่หมวกที่มีผ้าห้อยปิดหลังท้ายทอยด้วย โดยปะเกือบทั้งหมวกคง 3 แผ่น เขาเล่าว่าเสียงดีขึ้นทุกแง่มุม มิติก็เช่นกัน เพื่อนอีกคนเป็นนักจูนเสียงรถยนต์ได้ลองที่บ้านตอนดูทีวี LCD เขายืนยันว่าภาพดีขึ้น ใส คมชัด มีมิติขึ้น เสียงดีขึ้น

          ถ้าเรานำ 2 กรณีนี้ (กล่องผลึก+แผ่นตะกั่ว) มาต่อกัน ทำให้น่าจะสรุปได้ว่า ทั้ง 2 เป็นการกระทำต่อสมองโดยตรง ไม่ได้ผ่านทางเครื่องเสียง

          กรณีแผ่นตะกั่ว มันช่วยกั้น , บังคลื่นวิทยุขยะความถี่สูงรอบๆตัวเราไม่ว่า WiFi , คลื่นมือถือ , คลื่นเสามือถือ(โครงข่าย) , คลื่นสถานีวิทยุ(ทั้งหลักและชุมชน) , คลื่นสถานีโทรทัศน์ (หลัก,เคเบิ้ล) , ฯลฯ มารบกวน “สมอง”ทำให้การรับรู้ทางหู/ตาดีขึ้น

          กรณีกล่องผลึก ก้อนแร่ธาตุเกือบ 10 ชนิดได้ถูกคลื่น RF ขยะทั้งหลายรอบตัวเรา เขย่าโมเลกุล(กระตุ้น) ของมัน จนโมเลกุลเขย่าตัวและแผ่คลื่นแบบลูกผสมออกมาป่วน , สลายคลื่นRFขยะเหล่านั้นให้เขยิบการรบกวนไปสู่ความถี่ที่สูง มากๆหรือต่ำมากๆจนมีผลต่อ “สมอง”ของเราลดลงมากหรือไม่ ก้อนแร่ธาตุเหล่านั้นได้ช่วยกันดึงดูดซับและสลายคลื่น RF เหล่านั้นไม่ให้มากวนสมอง (เหมือนการระบายสัญญาณรบกวนลงดิน (Ground) ในระบบเครื่องเสียง

          4 วันต่อมาผมไปวิ่งหา “กล่องแถมแร่ธาตุ” ที่เหมือนกันได้อีก 2 กล่อง (กล่องละ 850 บาท) เอามา 1 กล่องวางที่ห้องนอน บนหลังตู้ ห่างจากเครื่องเล่น บลูเร OPPO BDP 105 ประมาณ 1 เมตร ปรากฏว่าภาพใสและคมชัดขึ้นประมาณ 8 % (คือพอจะดูออก) ที่มีผลไม่มากนักเพราะอย่าลืมว่าชุดดูหนังที่ห้องนอนมีตัวช่วยในรูปผลึกเยอะมากแล้ว เป็นผลึก       อะมิทิส  (รูปกระโจมโพรง สูง 1 ศอก อยู่ใต้ตัวฉาย SAMSUNG A 600 ห่างกัน 1 ศอก) อยู่หลังศีรษะผมเลยตอนนั่ง/นอนดู อีก 1 กระโจมสูง 1 ศอกเช่นกันอยู่ใต้จอรับภาพระหว่างลำโพงซ้าย , ขวา อีก 2 ก้อนกลมขนาด 4 นิ้ววางอยู่บนลำโพงซ้าย 1 ก้อน , ขวา 1 ก้อน อีก 1 ฝ่ามือบนหลังตู้หนังสือ ขวามือ มีปลั๊กเสียบตัวผู้กรองไฟ AC ของ PHD2 อีก 3 ตัวเสียบก่อนเข้า BDP 105 ( 1 ตัว) ก่อนเข้าชุดขยายเสียง SOKEN ST-12(2.1) (ราคา 2580 บาท!) 1 ตัว ที่กำแพงอีก 1 ตัว มีผลึกโมนาไซด์สูงเกือบ 1 คืบอีก 1 ตัวที่ใกล้ปลั๊ก BDP 105 (พวกนี้ผมไล่เสียบทีละตัวแล้วฟังดูหมดว่ามีผลดีขึ้นจริงไหม) จะเห็นว่าปกติผลที่ได้ทั้งภาพและเสียงก็เหลือๆแล้ว (ภาพมีมิติ,สีสัน เหมือนดูTV จอแก้วระดับแสนขึ้นไป) เสียงดุจฟังชุดเซอราวด์แยกชิ้นเกือบแสนบาท (ผมฟังแบบ 2CH อยู่ (2.1) แต่เสียงออกมาบรรยากาศรอบทิศเลย

          ฟังอยู่ 3 วัน จึงเอาอีกกล่องเข้ามาในห้องนอน มาวางเหนือศีรษะบนหลังตู้หนังสือด้านขวามือ (กล่องที่ 1 อยู่ซ้ายมือ) ปรากฏว่าภาพใสขึ้น มิติ ทรวดทรงดีขึ้นอีกนิดหน่อย ภาพมีทรวดทรงเป็น 3 มิติ(3D)มากขึ้น  ภูเขา จมูก ใบหน้าลอยออกมาและมีทรวดทรงขึ้น ที่นึกไม่ถึงคือ ลำดับชั้นตื้น-ลึกของภาพดีขึ้น อย่างจังหวะที่กล้องอยู่สูงแล้วถ่ายมุมทิ่มลงที่เวที เรารู้สึกได้ว่าเหมือนมองดูมาจากที่สูง ซึ่งอารมณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในชีวิต ขณะที่สุ้มเสียงก็ดังขึ้น หนักแน่นขึ้น สอดใส่อารมณ์ตอกย้ำเสียงหนักเบา ฉับไวได้ดีขึ้น บรรยากาศความเป็นเซอราวด์ชัด,ดีขึ้น

          ผมมั่นใจว่า ใครได้มาทั้งดูและฟังชุดนี้จะต้อง “ช็อก”แน่ๆกับทั้งภาพและเสียงที่ได้

          ทั้ง 2 กรณี (ตะกั่ว/กล่องแร่ธาตุ) ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า การดีขึ้นนั้น เป็นเพราะการกระทำต่อ สมอง โดยตรง ไม่ใช่ต่อเครื่องเสียง

          (คืนแรกที่ใช้ 2 กล่อง ผมอาจคิดไปเอง แต่ผมว่าตอนนอน ก่อนนอน รู้สึกหัวมันโล่งโปร่ง สงบ สบาย ผ่อนคลายกว่าปกติ ตอนเช้าตื่นมาก็รู้สึกสดชื่น อารมณ์โปร่งดี คงต้องทดลองต่อไป อยากไปซื้อกล่องเพิ่มแต่ของหมดแล้ว คงต้องให้ทางร้านหนังสือสั่งให้)

          สรุปคือ เครื่องเคียงบางตัวก็มีผลต่อสมองโดยตรงได้เช่นกัน

 

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459